คำว่า "อิสลาม" แปลตามศัพท์ว่า การยอมมอบตนตามประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้าโดยสิ้นเชิง ผู้นับถือศาสนาอิสลาม เรียกว่า "มุสลิม" แปลว่า ผู้ยอมมอบตนต่อพระเจ้า
ศาสดาของศาสนาอิสลาม คือ ท่าน นบีมุฮำมัด (นบี หมายถึง ผู้แทนของอัลลอฮ์ หรือ พระเจ้าของศาสนาอิสลาม) ท่านมุฮำมัด เป็นชาวอาหรับเผ่ากุรอยฮ์ ในเมืองเมกกะ (ปัจจุบัน คือ ประเทศซาอุดิอารเบีย)
ศาสนาอิสลาม เกิดขึ้นในดินแดนทะเลทรายอาหรับซึ่งเป็นเมืองเมกกะ ประเทศซาอุดิอารเบียในปัจจุบัน ในยุคนั้นชาวอาหรับแตกแยกออกเป็นหลายกลุ่มขาดความสามัคคียากแก่การปกครอง มีการรบพุ่งฆ่าฟันกันตลอดเวลา ไม่มีศาสนาเป็นแก่นสาร คนส่วนใหญ่นับถือเทพเจ้าและรูปเคารพต่าง ๆ ประชาชนไม่มีศีลธรรม สตรีจะถูกข่มเหงรังแกมากที่สุด ท่านนบีมุฮำมัด เกิดขึ้นท่ามกลางสภาพสังคมที่เสื่อมทรามเช่นนี้ จึงคิดหาวิธีที่จะช่วยปรับปรุงแก้ไขสถานการณ์ให้ดีขึ้น
ท่านนบีมุฮำมัด เป็นผู้ที่ใฝ่ในทางศาสนา หาความสงบและบำเพ็ญสมาธิ ที่ถ้ำฮิรอบนภูเขานูร์ในคืนหนึ่งของเดือนรอมฎอน ในคัมภีร์ทางศาสนาอิสลามกล่าวว่า กาเบรียลทูตของพระเจ้า ได้นำโองการของอัลลอฮ์มาประทาน ท่านนบีมุฮำมัด ได้นำคำสอนเหล่านี้มาเผยแพร่จนเกิดเป็นศาสนาอิสลามขึ้น
ในระยะแรกของการเผยแพร่ศาสนา ได้รับการต่อต้านเป็นอย่างมาก ถึงกับถูกทำร้าย จนต้องหลบหนีไปอยู่เมืองมะดีนะฮ์ จนเป็นที่ยอมรับและมีคนนับถือมากมาย ก็กลับมายึดเมืองเมกกะ ทำการเผยแพร่ศาสนาอิสลามอย่างเต็มที่ การเผยแพร่ศาสนาของอิสลามออกไปยังประเทศต่าง ๆ
คัมภีร์ของศาสนาอิสลาม ได้แก่ คัมภีร์ อัลกุรอาน ชาวมุสลิม เชื่อว่า เป็นโองการของพระเจ้าหรืออัลลอฮ์ประทานผ่านทางนบีมุฮำมัด มีทั้งหมด ๖,๖๖๐ โองการ ๑๑๔ ซูเราะห์ (บท) และเชื่อกันว่าโองการเหล่านี้ อัลลอฮ์ประทานมาเป็นระยะ ๆ ตามเหตุการณ์ใช้เวลาถึง ๒๓ ปี จึงเป็นคัมภีร์อัลกุรอาน
ศาสนาอิสลามเข้าสู่ประเทศไทย ตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยจนถึงปัจจุบันมีชาวไทยผู้นับถือศาสนาอิสลามมากเป็นอันดับสองรองจากศาสนาพุทธ มีองค์กรทางศาสนาที่ทางราชการให้การรับรอง เรียกว่า "สำนักจุฬาราชมนตรี" โดยมีจุฬาราชมนตรีเป็นผู้นำสูงสุด แบ่งการบริหารเป็น กรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย กรรมการอิสลามประจำจังหวัด และกรรมการอิสลามประจำมัสยิด ในแต่ละมัสยิด (สุเหร่า) จะมีอิหม่ามคอเต็บ และ บิบหลั่น เป็นผู้ปกครองดูแลสัปบุรุษ (ผู้ที่ไปปฏิบัตินมัสการ หรือ ทำละหมาดเป็นปกติในวันศุกร์ ณ มัสยิด และมีชื่อปรากฎอยู่ในทะเบียนของมัสยิด)
moe.go.th