การที่จะเขียนภาพจิตรกรรมไทยบนฝาผนัง อันได้แก่ฝาผนังพระที่นั่ง พระอุโบสถ พระระเบียง พระวิหาร หอไตร หอพระ หรือบานประตู หน้าต่าง ฯลฯ
ก่อนที่จะทำการเขียนภาพจิตรกรรมไทยบนฝาผนังนั้น ท่านบรมครูสมัยดั้งเดิม ท่านได้มีแบบแผนและกรรมวิธี ในทางปฏิบัติที่ใช้สืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบันนี้ โดยท่านบรมครูได้จัดเตรียมความพร้อมไว้ ๔ ประการ คือ
ก. พื้นฝาผนังโดยปกติแล้วจะต้องมีฝุ่นละอองจับอยู่ จำเป็นจะต้องทำการขจัดฝุ่นออกให้หมดเสียก่อน
ข.ใช้น้ำใบขี้เหล็กทาพื้นฝาผนังเพื่อฆ่าความเค็มของปูนเสียก่อน น้ำใบขี้เหล็กที่จะใชัทาพื้นผนังนั้น ก็โดยการนำเอาใบขี้เหล็กสดมาใส่ครกตำให้ละเอียด แล้วเอามาผสมน้ำที่เตรียมไว้ ใช้มือคนให้ทั่วเพื่อให้น้ำขี้เหล็กผสมกับน้ำ แล้วใช้ผ้ากรองแยกกากใบขี้เหล็กออก เอามือบีบคั้นจนน้ำขี้เหล็กออกจนหมด เมื่อได้น้ำใบขี้เหล็กแล้ว ก็เอาไปทาพื้นผนังที่จะเขียนภาพให้ทั่ว ถ้าจะให้ดีจริงๆ ควรทาหลายๆ ครั้ง
ค. การพิสูจน์ความเค็มของปูน ฝาผนังที่เราทาน้ำขี้เหล็กแห้งสนิทดีแล้ว เราต้องการทราบว่าผนังปูนหมดความเค็มหรือยัง เราก็ใช้ขมิ้นชันสดทดลองขีดบนผนังที่ทาน้ำขี้เหล็กไว้ดู ถ้าปรากฏเป็นสีแดง ก็แสดงว่าผนังปูนยังมีความเค็มอยู่ เพื่อให้ความเค็มของปูนหมดไป ก็ต้องใช้น้ำขี้เหล็กทาทับลงไปอีก เมื่อรอให้แห้งสนิทดีแล้ว ก็ใช้ขมิ้นทดลองขีดดูอีก ถ้ารอยขีดของขมิ้นไม่เป็นสีแดง คือเป็นสีเหลืองของขมิ้นก็แสดงให้ทราบว่า พื้นผนังนั้นปูนหมดความเค็มแล้ว ก็เป็นอันใช้เขียนภาพได้ แต่ถ้าหากใช้ขมิ้นขีดแล้ว ยังเป็นสีแดงอยู่ ก็ต้องใช้น้ำขี้เหล็กทาทับลงไปอีก และทดลองจนเห็นว่าไม่เป็นสีแดงจึงจะใช้ได้ดังได้กล่าวมาแล้ว
เมื่อเตรียมพื้นได้เรียบร้อยแล้ว ในขั้นเตรียมการต่อไปก็คือ ทาพื้นด้วยดินสอพองเกรอะอีกครั้งหนึ่ง การทำน้ำดินสอพองเกรอะ มีดังนี้...
นำดินสอพองมาแช่น้ำให้ละลายไว้ในภาชนะ เก็บเศษผงทิ้ง และวางทิ้งไว้ให้ดินสอพองนอนก้น เอาเมล็ดมะขามมาคั่วพอให้เปลือกกระเทาะร่อนออก แล้วนำเอาเมล็ดมะขามคั่วที่กระเทาะเปลือกออกหมดแล้ว ใส่กระทะใส่น้ำ นำไปต้มเคี่ยวจนเมล็ดมะขามเปื่อย เป็นแป้งเปียกเหลว แล้วยกลงจากเตา เอาดินสอพองที่ละลายน้ำไว้และทิ้งให้นอนก้น นำมารินน้ำทิ้งจนเกือบหมด แล้วจึงเทใส่ในภาชนะเมล็ดมะขามที่เคี่ยวไว้ ทำการกวนดินสอพองกับเนื้อเมล็ดมะขามให้เข้าเป็นเนื้อเดียวกัน ให้มีความข้นเท่ากับสีน้ำพล้าสติกที่ผสมน้ำที่จะใช้ทา
เอาดินสอพองผสมเมล็ดมะขามนี้ ไปทากับพื้นที่ทาน้ำขี้เหล็กซึ่งพิสูจน์แล้วว่าหมดความเค็ม โดยใช้แปรงทาสีจุ่มทาให้ทั่ว ( อย่าให้หนาเกินไป ) ( ทาได้ทั้งผนังปูน และบานประตู บานหน้าต่าง ) ทาเสร็จแล้วปล่อยทิ้งไว้ให้แห้ง จึงใช้กระดาษทรายชนิดละเอียดขัดพอหน้าพื้นเรียบเสมอกัน เมื่อขัดพื้นเรียบร้อยแล้วก็ปัดฝุ่นที่ขัดออกให้หมด แล้วจึงใช้สีฝุ่นขาวทา เป็นสีรองพื้นให้ทั่วอีกครั้งหนึ่ง เป็นการเตรียมพื้นฝาผนัง ที่จะใช้เขียนเรียบร้อยสมบูรณ์ตามกรรมวิธีดั้งเดิม
อุปกรณ์และวัสดุต่างๆ ที่ประกอบการใช้เขียนภาพจิตรกรรมไทยนั้น ในโบราณกาลท่านบรมครูจะประดิษฐ์อุปกรณ์ขึ้นมาจากธรรมชาติเป็นส่วนใหญ่ แต่ในที่นี้จะพูดถึงวัสดุที่มีจำหน่ายตามร้านเครื่องเขียนใหญ่ๆ เพื่อความสะดวกของผู้ที่จะหัดเขียนใหม
กฏของการปฏิบัติการเขียนภาพจิตรกรรมไทยมีดังนี้คือ ระบาย ขีด จิ้ม ทิ่ม ตัด และแต่ละข้อก็แยกความหมาย ให้เห็นเด่นชัดดังนี้