มวยไทยในสมัยก่อนเท่าที่ทราบจะมีการฝึกฝนอยู่ในบรรดาหมู่ทหาร เพราะในสมัยก่อนไทยเราได้มีการรบพุ่งและสู้รบกันกับประเทศเพื่อนบ้านบ่อยๆ การสู้รบในสมัยนั้นยังไม่มีปืนจะสู้กันมีแต่ดาบทั้งสองมือและมือเดียว เมื่อเป็นเช่นนี้การรบพุ่งก็ต้องมีการประชิดตัว คนไทยเห็นว่าการรบด้วยดาบนั้นเป็นการรบพุ่งที่ประชิดตัวมากเกินไป บางครั้งคู่ต่อสู้อาจจะเข้ามาฟันเราได้ง่ายขึ้น ทำให้แพ้คู่ต่อสู้ได้
ต่อมาเมื่อในหมู่ทหารได้รับการฝึกถีบ เตะแล้ว มีผู้คิดว่าทำอย่างไรเราจึงจะใช้การถีบ และเตะนั้นมาเป็นศิลปะสำหรับการต่อสู้ด้วยมือได้ จึงได้มีผู้ที่คิดจะฝึกหัดการต่อสู้ป้องกันตัวสำหรับการใช้แสดงเวลามีงานเทศกาลต่างๆ ไว้อวดชาวบ้าน และเป็นของแปลกสำหรับชาวบ้าน เมื่อเป็นเช่นนี้มานานเข้าชาวบ้านหรือคนไทยได้เห็นการถีบ-เตะอย่างแพร่หลายและบ่อยเข้า จึงทำให้ชาวบ้านมีการฝึกหัดมวยไทยกันมากจนถึงกับตั้งเป็นสำนักฝึกกันมากมายแต่สำนักที่ฝึกมวยไทยก็ต้องเป็นสำนักดาบที่มีชื่อดีมาก่อนและมีอาจารย์ดีไว้ฝึกสอน ดังนั้นมวยไทยสมัยนั้นจึงฝึกเพื่อมีความหมาย ๒ อย่างคือ
พ.ศ. ๑๒๙๑ พระเจ้าพีล่อโก๊ะ ได้รวบรวมอาณาจักรไทยขึ้น เรียกว่า อาณาจักรน่านเจ้า และมีกษัตริย์ที่เข้มแข็งปกครองอยู่นาน ไทยต้องทำสงครามกับจีนอยู่ตลอดเวลา บางครั้งก็เป็นมิตรบางครั้งก็เป็นศัตรูกัน ในสมัยนั้นมีการฝึกใช้อาวุธบนหลังม้า รู้จักใช้หอก ใช้ง้าว ในสมัยล้านนาไทยได้มีวิชาการต่อสู้ป้องกันตัว และวิชาเจิ้ง (การต่อสู้แบบจีนชนิดหนึ่งคล้ายๆ มวยจีน) การรบเพลงอาวุธและตำราพิชัยสงคราม จะสังเกตเห็นว่าการต่อสู้ในสมัยนี้ส่วนมากจะใช้อาวุธ เพราะเป็นการต่อสู้เพื่อเอกราช การต่อสู้ด้วยมือเปล่าก็มีอยู่บ้าง แต่ส่วนมากจะใช้ระยะประชิดตัว และนิยมการเลียนแบบจากจีน
พ.ศ. ๑๗๘๑-๑๙๒๑ ในสมัยสุโขทัยนี้การต่อสู้ด้วยมือเปล่าด้วยวิชามวยไทยก็มีใช้อยู่ในการต่อสู้กับข้าศึก ส่วนใหญ่ก็ยังใช้อาวุธชนิดต่างๆ เพื่อการกอบกู้ประเทศชาติ สถานที่ที่เป็นสำนักประสิทธิ์ประสาทวิชามวยไทยแบ่งออกเป็น
นอกจากนี้ยังมีการละเล่นพื้นเมือง เช่น ระบำ รำ เต้น กีฬาว่าว จากพงศาวดารโยนกพูดถึงเรื่องการล่าสัตว์ว่า พระเจ้าเม็งรายกับพระเจ้ารามคำแหงได้ทรงช้างออกไปล่าสัตว์กับพวกพรานและข้าราชบริพาร ซึ่งเป็นสัตว์ประเภท กวาง หมู ไก่ อีเก้ง นก ฯลฯ เป็นต้น
พ.ศ. ๑๘๙๓ - ๒๓๑๐ สมัยนี้ยังมีการถ่ายทอดวิชาการต่างๆ มาจากสมัยสุโขทัยกันอย่างต่อเนื่อง เช่น การล่าสัตว์ การคล้องช้าง การฟ้อนรำ และการละเล่นต่างๆ และวัดยังคงเป็นสถานที่ให้ความรู้ทั้งวิชาสามัญและฝึกความชำนาญในเชิงดาบกระบี่ กระบอง กริช มวยไทย ธนู เป็นต้น
พ.ศ.๑๙๐๑ - ๒๑๗๓ ประชาชนในกรุงศรีอยุธยานิยมเล่นกีฬากลางแจ้งกันมาก โดยเฉพาะการเล่นว่าว จนต้องออกกฎมลเฑียรบาล ห้ามประชาชนเล่นว่าวเหนือพระราชฐาน
พ.ศ. ๒๑๗๔ - ๒๒๓๓ สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชนับว่าเจริญที่สุด เพราะมีกีฬาหลายอย่าง เช่น การแข่งขันเรือ การชกมวย
สมัยพระเจ้าเสือ หรือขุนหลวงสรศักดิ์ พระองค์ชอบกีฬาชกมวย ครั้งหนึ่งพระองค์ได้เสด็จไปที่ตำบลราดรวด พระองค์พร้อมด้วยมหาดเล็กอีก ๔ คน แต่งกายแบบชาวบ้านนอกไปเที่ยวงานมหรสพ แล้วพระองค์ก็สมัครชกมวย โดยไม่เกี่ยงว่าคู่ต่อสู้จะเป็นใคร พอทางสนามรู้ว่าพระองค์เป็นนักมวยมาจากอยุธยาจึงได้จัดนักมวยฝีมือดีจากเมืองวิเศษชัยชาญเท่าที่มีอยู่ ซึ่งได้แก่นายกลางหมัดมวย นายใหญ่หมัดเหล็ก และนายเล็กหมัดหนัก ชกกับพระเจ้าเสือ พระองค์ชกชนะทั้งสามคนรวด พระองค์ได้ฝึกฝนให้เจ้าฟ้าเพชร และเจ้าฟ้าพร พระราชโอรสให้สามารถในกระบี่กระบองและมวยปล้ำ
ในสมัยนั้นใครมีเพลงดาบดีและเก่งทางรบพุงนั้น จะต้องเก่งทางมวยไทยด้วย เพราะเวลารบพุ่งนั้นต้องอาศัยมวยไทยเข้าช่วยด้วย ดังนั้น วิชามวยไทยในสมัยนั้นจึงมุ่งหมายเพื่อที่จะฝึกฝนเพลงดาบ และวิชามวยไทย เพื่อที่จะให้ตัวเองเข้าไปรับใช้ชาติโดยการเป็นทหาร แต่เมื่อพ้นจากหน้าที่สงครามแล้ว มีการชกมวยกันเพื่อความสนุกสนาน และมีการพนันกันระหว่างนักมวยที่เก่งจากหมู่บ้านหนึ่ง กับนักมวยที่เก่งจากอีกหมู่บ้านหนึ่งมาชกกัน ในหน้าที่มีงานเทศกาล หรือเกิดการท้าทายกันขึ้นและมีการพนันขันต่อกัน มวยในสมัยนั้นชกด้วยหมัดเปล่าๆ ยังไม่มีการคาดเชือก
พ.ศ. ๒๓๑๐ หลังจากกรุงศรีอยุธยาแตก คนไทยถูกจับไปเป็นเชลยมาก และเมื่อไปถึงพม่าก็จัดมหาเจดีย์ใหญ่เพื่อฉลองชัยชนะ สุกี้พระนายกองก็ได้คัดเลือกนายขนมต้มส่งไปชกมวยที่พม่าด้วย นายขนมต้มซึ่งได้ใช้วิชามวยไทยต่อสู้กับพม่าถึง ๑๐ คน และพม่าได้แพ้นายขนมต้มหมดทุกคน จนถึงกับพระเจ้ากรุงอังวะตรัสชมเชยว่า คนไทยถึงแม้จะไม่มีอาวุธในมือ มีเพียงมือเปล่า ๒ ข้าง ก็ยังมีพิษรอบตัว เสร็จแล้วพระเจ้ากรุงอังวะได้มอบเงินและภรรยาให้ ๒ คน เป็นรางวัลแก่นายขนมต้ม นายขนมต้มจึงได้เปรียบเสมือนบิดาผู้สอนมวยไทย เพราะทำให้ไทยมีชื่อเสียงเกี่ยวกับวิชามวยไทยเป็นอันมากในสมัยนั้น และชื่อเสียงได้เลื่องลือมาจนถึงสมัยปัจจุบัน อนึ่ง ในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย มวยไทยชกกันด้วยการ "คาดเชือก" เรียกว่า มวยคาดเชือก ซึ่งใช้เชือกหรือผ้าพันมือ บางครั้งการชกอาจถึงตายเพราะเชือกที่คาดมือนั้นบางครั้งใช้น้ำมันชุบเศษแก้วละเอียดชกตรงไหนเป็นแตกได้เลือด จะเห็นว่าสมัยนี้การชกมวยคาดเชือกมีอันตรายมาก
พ.ศ. ๒๓๑๔ พม่ายกมาตีเมืองเชียงใหม่และได้ยกทัพมาตีเมืองพิชัย พระยาพิชัย (นายทองดี ฟันขาว) จึงนำทัพออกตะลุมบอนกับพม่าจนดาบทั้งสองหัก และป้องกันเมืองไว้ได้ พระยาพิชัยเป็นผู้มีฝีมือในเรื่องการชกมวย กระบี่กระบอง และฝีมือในการรบ พระเจ้ากรุงธนบุรี (พระเจ้าตากสิน) จึงได้ให้ไปครองเมือง พิชัย จากการต่อสู้ของพระยาพิชัยจนดาบหัก และสามารถป้องกันเมืองพิชัยไว้ได้นี้ประชาชนจึงเรียกว่า พระยาพิชัยดาบหัก
ในสมัยกรุงธนบุรี มีการเล่นกีฬามวยไทย กระบี่กระบองแข่งเรือ ว่าว ตะกร้อ หมากรุก ชักเย่อ
พ.ศ. ๒๓๒๕ ในระยะต้น คือ รัชกาลที่ ๑-๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ กษัตริย์ไทยทรงโปรดการกีฬามากเช่นสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดให้ลูกยาเธอหลายพระองค์หัดเล่นกระบี่กระบอง ส่วนใหญ่ประชาชนก็นิยมเล่นกีฬากันมากโดยฝึกกันตามบ้านและสำนักต่างๆ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ทรงแต่งตั้งผู้ที่มีฝีมือในทางกีฬาต่างๆ ให้เป็นหัวหน้าในการจัดกีฬา ให้มียศและตำแหน่งด้วยเช่น หมื่นมวย แม่นหมัด ขุนชงัด ชิงชก เป็นผู้ดำเนินการจัดกีฬา กีฬาไทยที่ได้รับการยกย่องส่งเสริมมีดังนี้
ในสมัยอยุธยาตอนปลาย มวยไทยก็มีการฝึกฝนกันตามสำนักฝึกต่างๆ และมีการฝึกกันอย่างกว้างขวาง จนถึงสมัยกรุงเทพฯก็มีเวทีมวยที่จัดให้มีการแข่งขันกันอย่างสนุกสนาน เช่น เวทีสวนเจ้าเชษฐ์ และเวทีสวนกุหลาบ ซึ่งการชกในสมัยนี้ก็ยังมีการคาดเชือกกันอยู่ จนในตอนหลังนวมได้เข้ามาแพร่หลายในไทยการชกกันในสมัยหลังๆ จึงได้สวมนวมชกกัน แต่การชกก็ยังเหมือนเดิม คือ ยังใช้การถีบ เตะ ชก ศอก เข่า อยู่เช่นเดิมดังที่เห็นอยู่ในปัจจุบันนี้
หลักเกณฑ์ในการจัดการแข่งขัน และกรรมการผู้ชี้ขาดตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ ขึ้นไปหาหลักฐานไม่ได้ แต่พอจะจับเค้าโครงเรื่องนี้ได้ในสมัยรัชกาลที่ ๖ เป็นต้นมา การแข่งขันชกมวยในสมัยต่างๆ ซึ่งนับว่าครึกโครมและมีผู้นิยมชมชอบมาก ซึ่งพอจะแยกกล่าวได้มีอยู่ ๕ สมัยด้วยกัน คือ
มวยไทยเป็นกีฬาที่เก่าที่สุดของเรา และเป็นที่นิยมของประชาชนทุกชั้นทุกสมัย ในชั้นต้นการแข่งขันมวยไทยไม่ได้มีกติการเป็นลายลักษณ์อักษร นายสนามต้องชี้แจงให้นักมวยคู่แข่งขันทราบถึงหลักเกณฑ์ในการแข่งขันนั้นๆ หลักเกณฑ์ต่างๆ เหล่านี้เมื่อใช้กันมากขึ้นก็กลายเป็น จารีตประเพณี ซึ่งใช้เป็นหลักสำหรับการแข่งขันสืบมา
พ.ศ. ๒๔๕๕ ม.จ.วิบูลย์ สวัสดิ์วงศ์ สวัสดิกูล ซึ่งสำเร็จการศึกษามาจากมหาวิทยาลัยในประเทศอังกฤษ ได้ทรงนำวิชามวยฝรั่ง (มวยสากล) มาสอนให้แก่คณะครูที่สามัคยาจารย์สมาคมและได้ทรงร่างกติกามวยฝรั่งขึ้น ในไม่ช้ามวยฝรั่งก็ได้แพร่หลายไปตามโรงเรียนต่างๆ ทั่วพระราชอาณาจักรโดยรวดเร็ว
พ.ศ. ๒๔๖๒ กระทรวงศึกษาธิการได้จัดให้มีการแข่งขันมวยฝรั่งระหว่างนักเรียนขึ้นเป็นครั้งแรก ส่วนกติกามวยฝรั่งซึ่ง ม.จ.วิบูลย์ สวัสดิ์วงศ์ สวัสดิกูล ได้ทรงร่างขึ้น มีการแก้ไขบ้างเล็กน้อย และคณะกรรมการจัดการกีฬาของกระทรวงศึกษาธิการได้จัดพิมพ์ขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๐
พ.ศ. ๒๔๗๐ กระทรวงมหาดไทยมีความประสงค์จะออกกฎกระทรวง ว่าด้วยเงื่อนไขการอนุญาตให้เล่นการพนันมวยชก มวยปล้ำ ตามพระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ. ๒๔๗๐ และขอให้กรมพลศึกษาปรับปรุงแก้ไขกติกาเหล่านี้ให้รัดกุมยิ่งขึ้น กรมพลศึกษาเห็นชอบด้วย จึงแจ้งให้เจ้าหน้าที่กรมพลศึกษาร่วมมือกันพิจารณาร่างกติกามวยไทย มวยฝรั่ง และมวยปล้ำขึ้นใหม่จนสำเร็จเมื่อ ๑๐ มีนาคม ๒๔๗๗ และเริ่มใช้กติกาใหม่นี้ตั้งแต่ ๑ เมษายน ๒๔๘๐ เป็นต้นไปและได้จัดพิมพ์ครั้งที่ ๑ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๒
พ.ศ. ๒๔๗๗ กระทรวงมหาดไทยได้วางข้อบังคับคุ้มครองการแข่งขันชกมวยไทย มวยฝรั่ง เพื่อเป็นการแข่งขันชั่วคราว
มวยอาชีพ ทางบริษัทมวยเวทีราชดำเนินได้วางระเบียบข้อบังคับ และกติกาแข่งขันขึ้นโดยได้อาศัยระเบียบข้อบังคับและกติกามวยสากล (อาชีพ) ของประเทศฟิลิปปินส์เข้าเทียบเคียงเพื่อให้เข้ากับระเบียบข้อบังคับของสหพันธ์มวยภาคตะวันออก ซึ่งประเทศไทยเราได้เป็นภาคีอยู่ด้วย ทางเวทีราชดำเนินได้ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับกติกาใหม่นี้ตั้งแต่ เดือนมิถุนายน ๒๔๙๘ เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน
สำหรับในด้านการแข่งขันมวยไทยเป็นมาอย่างไรนั้นขอนำบทความในเรื่อง "จากสวนกุหลาบถึงราชดำเนิน" ของสมิงกระหร่อง ซึ่งได้เขียนไว้ในสมุดภาพบันทึกความวิวัฒนาการของเวทีมวยราชดำเนินดังต่อไปนี้
การเขียนเรื่องกีฬามวยไทยกำเนิดขึ้นในสมัยใดนั้นเป็นเรื่องสุดวิสัยของการเขียน กำลังอยู่ระหว่างปรับปรุงข้อมูลของการก่อตั้งกีฬามวยเมืองไทยเป็นเพียงตั้งแต่ยุคสมัยสวนกุหลาบสมัยพระยา "แม็คนนท์เสน" มาจนถึงสมัยเวทีราชดำเนินก็ตกอยู่ในภาวะอันเดียวอย่างที่เราและท่านจะเล่าสู่กันฟังได้เพียงจากความทรงจำบางระยะบางตอนเท่านั้น เพราะว่าความทรงจำของคนเรานั้นมักสั้น เรื่องที่ข้าพเจ้าจะนำมาเล่าสู่กันฟังนี้ก็เสี่ยงต่อการผิดพลาดได้มากทีเดียว ถึงกระนั้นข้าพเจ้าก็พยายามอย่างที่สุดเท่าที่ข้าพเจ้าจะพยายามทำได้
ที่เรียกว่าสนามครั้งนั้นเป็นสนามจริง นายสนามเอาเชือกมากั้นพอเป็นบริเวณเข้า แล้วนักมวยก็คาดเชือกชกกันบนพื้นดิน ใช้จอกหรือกะลาลอยน้ำเป็นมาตรากำหนดเวลาจบครั้งหนึ่งเรียกว่ายกหนึ่ง การต่อสู้ตามความรู้สึกในขณะนั้นก็เรียกว่าตื่นเต้นดี
แต่ถ้าหากให้ชกกันเดี๋ยวนี้ก็คงถูกคนดูโห่หรือให้กรรมการไล่ลงหรือออกจากเวทีแน่ เพราะกว่าจะชกกันแต่ละครั้งนั้นนานจนเมื่อยตา แต่ก็น่าเห็นใจเนื่องจากหมัดที่ใช้ชกคาดด้วยเชือกแทนสวมนวม อย่างไรก็ดีกีฬามวยเริ่มเข้ามาสู่ระเบียบอย่างจริงจัง ก็เมื่อสร้างเวทีขึ้นกลางสนามฟุตบอลสวนกุหลาบ พื้นใช้ไม้กระยาเลยเสื่อลำแพน หรือเสื่อกระจูดปูทับข้างบน มีการนับยกโดยการจับเวลาเป็นนาทีมีกรรมการคอยห้าม ครั้งแรกเคยใช้กรรมการ ๒ คน คนหนึ่งคอยกันฝ่ายแดง อีกฝ่ายคอยกันฝ่ายน้กเงิน คนหนึ่งคือพระยานนท์เสน อีกคนหนึ่งคือพระยานเรนท์ราชาที่เป็นกรรมการตัดสินที่นิยมยกย่องแพร่หลายอยู่ในระหว่างนักมวยและคณะหัวหน้านักมวยทั่วไป
สำหรับการชกนั้น ชกกันสลับคู่ เช่น คู่ ๑ ชกครบ ๑ ยก แล้วก็ลงจากเวที มาให้คู่ ๒ ขึ้นไปชกกันเพื่อมิให้คนดูเสียเวลารอคอย พอครบยกก็ลงให้คู่แรกขึ้นชกยกที่ ๒ หากยังไม่มีการแพ้ชนะกันก็ให้ชกกลับกันเรื่อยไปจนกว่าจะสิ้นแสงตะวัน
หลักเกณฑ์และกติกาเบื้องต้นอนุญาตให้ซ้ำกันได้ในเวลาล้ม นักมวยตอนนั้นจึงเรียนรู้วิธีต่อสู้รอบตัวทีเดียวเพราะฟาวล์ไม่มี แม้กระทั่งกัดใบหูก็เคยปรากฏ อีกอย่างหนึ่งสมัยนั้นนักเรียนพลศึกษามีมากอยากจะขึ้นชกเป็นการแสดงฝีมือ และสอบไล่มวยไทยไปในตัวเสร็จแต่กลัวเท้าพวกนักมวยต่างจังหวัด จึงตกลงวางหลักกติกาให้มีการใช้ยูยิตสูช่วยด้วย จึงเป็นของธรรมดาที่เราจะเห็นนักมวยต่างจังหวัดซึ่งไม่เคยรู้ยูยิตสูคืออะไร ถูกทุ่มถูกล็อกจนออกปากส่งเสียงร้องเอ็ดตะโรยอมแพ้ให้ลั่นไป นอกจากบางรายอย่าง ประสิทธิ บุญญารมย์ ซึ่งถูกตาทับจำเกราะเตะเสียจนตั้งตัวไม่ติดและสลบคาเท้าไปในที่สุด
กติกามวยไทยเราได้รับการทำนุบำรุง ได้รับการปรับปรุงทั้งระเบียบแบบแผน กฎกติกา จรรยา มารยาท และสวัสดิภาพตามแบบสากลนิยม หลายคนที่เคยดูมวยสมัยนั้น และสมัยต่อๆ มาที่หลักเมือง ที่สวนกุหลาบ สนามชัย ท่าช้าง เคยเห็นนักมวยและมิตรสหายชาวเกลอของนักมวยยกพวกตีกันหัวร้างข้างแตก ภายหลังจากการชิงชัย เพราะว่าฝ่ายใดไม่พอใจ ขุ่นแค้นอาฆาตพยาบาท หรือเพียงแพ้พนัน แต่เมื่อได้มาเห็นนักมวยที่หน้าตายับเยิน ตรงเข้าสวมกอดกันหลังจากที่การชกได้ยุติลงและจูงมือเข้าโรงอาหารหรือสุรา เมื่อออกจากสนามก็มักจะตื่นเต้นในความเป็นนักกีฬาที่แสดงแก่กันนั่นเองที่ผลของพลศึกษาในสาขาวิชามวยทั้งแบบไทยและสากล ได้ให้แก่จิตใจของนักกีฬาและประชาชนตลอดยุคแห่งการล้มลุกคลุกคลานของกีฬามวยจากสวนกุหลาบยุคโน้นมาจนถึงเวทีราชดำเนินในปัจจุบัน