พระราชลัญจกร คือ ตราที่พระมหากษัตริย์ทรงใช้ประทับ กำกับพระปรมาภิไธยและประทับกำกับเอกสารสำคัญ ที่ออกในพระปรมาภิไธย เป็นเครื่องหมายที่แสดงถึงพระราชอำนาจ และพระราชลัญจกรประจำแผ่นดินหรือประจำรัชกาลนั้น ยังเป็นเครื่องมงคลอีกด้วย ดังที่ปรากฎอยู่ในหมวดพระราชสิริซึ่งประกอบด้วย พระสุพรรณบัตร ดวงพระราชสมภพและ พระราชลัญจกรประจำแผ่นดิน ซึ่งจะต้องเชิญขึ้นทูลเกล้า ฯ ถวายในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พร้อมกับเครื่องมงคลอื่น ๆ
พระราชลัญจกรมี ๔ ประเภท คือ
เป็นพระราชลัญจกรที่ใช้มาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา สมัยกรุงธนบุรีก็ยังคงใช้ต่อเนื่อง นอกจากนั้นบรรดา เจ้าประเทศราชในสมัยกรุงธนบุรีก็ยังได้รับพระราชทานตราครุฑพ่าห์จำลองไปใช้ในราชการอีกด้วย สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ยังคงใช้พระราชลัญจกรองค์นี้เป็นพระราชลัญจกรสำหรับแผ่นดิน ในการผนึกพระราชสาส์นและหนังสือสัญญากับนานาประเทศ เช่นเดียวกับพระราชลัญจกรสำหรับแผ่นดินองค์อื่นๆ
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นโดยที่ยังไม่มีพระปรมาภิไธยรอบพระลัญจกร
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดเกล้าฯ ให้ใช้พระราชลัญจกรพระครุฑพ่าห์เป็นพระราชลัญจกรประจำแผ่นดินเป็นการถาวร โดยให้เพิ่มพระปรมาภิไธยประจำรัชกาลที่ขอบรอบพระราชลัญจกร ได้ทรงตราพระราชบัญญัติพระราชลัญจกร ร.ศ.๑๓๐ (พ.ศ. ๒๔๕๔) ให้พระราชลัญจกรพระครุฑพ่าห์ประจำแผ่นดินองค์ใหม่ ใช้ประทับกำกับพระบรมนามาภิไธยเท่านั้น ดังนั้นพระราชลัญจกรพระครุฑพ่าห์อันเป็นพระราชลัญจกรสำหรับแผ่นดินมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา จึงเปลี่ยนเป็นพระราชสัญจกรประจำแผ่นดินตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
ในรัชกาล พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชลัญจกรประจำพระองค์ พระราชลัญจกรพระครุฑพ่าห์ประจำแผ่นดิน สำหรับองค์หลังได้ทรงสร้างขึ้นเมื่อ วันที่ ๒๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๙๓ ณ อุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
พระราชลัญจกรประจำรัชกาลที่ ๑ เป็นรูปปทุมอุณาโลม มีอักขระ "อุ" อยู่กลาง ล้อมรอบด้วยกลีบบัวอันเป็นพฤกษชาติที่เป็นสิริมงคลในพุทธศาสนา ตราอุณาโลมมีรูปร่างคล้ายสังข์เวียนขวาอยู่ในกรอบลายกนก เริ่มใช้คราวพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๘
พระราชลัญจกรประจำรัชกาลที่ ๒ เป็นรูปครุฑยุดนาค เป็นพระราชสัญลักษณ์ของพระบรมนามาภิไธยว่า "ฉิม" อันหมายถึงพญาครุฑในวรรณคดีไทย ซึ่งอยู่ที่วิมานชื่อ ฉิมพลี
พระราชลัญจกรประจำรัชกาลที่ ๓ เป็นรูปปราสาท เป็นพระราชสัญลักษณ์ของพระบรมนามาภิไธยว่า "ทับ" อันหมายถึง ที่อยู่ หรือ เรือน
พระราชลัญจกรประจำรัชกาลที่ ๔ เป็นรูปพระมหาพิชัยมงกุฎ ในกรอบรูปกลมรี เป็นพระราชสัญลักษณ์ของพระบรมนามาภิไธยว่า "มงกุฎ" มีฉัตรตั้งขนาบพระมหาพิชัยมงกุฎทั้งสองข้าง มีพานทองสองชั้นวางแว่นสุริยกาลหรือเพชรข้างหนึ่ง วางสมุดตำราข้างหนึ่งพระแว่นสุริยกาลหรือเพชร มาจากฉายาเมื่อทรงผนวชว่า "วชิรญาณ" ส่วนสมุดตำรามาจากการที่ได้ทรงศึกษาและมีความเชี่ยวชาญในด้านอักษรศาสตร์และดาราศาสตร์
พระราชลัญจกรประจำรัชกาลที่ ๕ เป็นรูปพระจุลมงกุฎเปล่งรัศมีบนพานแว่นฟ้า เป็นสัญลักษณ์ของพระบรมนามาภิไธย "จุฬาลงกรณ์" มีฉัตรตั้งขนาบข้าง ริมขอบสองข้างมีแว่นสุริยกานต์ข้างหนึ่ง กับสมุดตำราข้างหนึ่งวางอยู่บนพานแว่นฟ้า
พระราชลัญจกรประจำรัชกาลที่ ๖ เป็นรูปวชิราวุธ ยอดมีรัศมีประดิษฐานบนพานแว่นฟ้า ซึ่งตั่งอยู่เหนือตั่ง มีฉัตรกลีบบัวตั้งอยู่สองข้างเป็นสัญลักษณ์ พระบรมนามาภิไธย "วชิราวุธ" หมายถึง อาวุธของพระอินทร์
พระราชลัญจกรประจำรัชกาลที่ ๗ เป็นรูปพระแสงศร ๓ องค์ คือ พระแสงศรพรหมมาสตร์ พระแสงศร ประลัยวาต และพระแสงศรอัคนีวาต บนราวพาดพระแสง เหนือขึ้นไปเป็น ดวงตรามหาจักรีบรมราชวงศ์ ภายใต้ พระมหาพิชัยมงกุฎ ด้านซ้ายและขวาตั้งบังแทรก มีลายกนกแทรกอยู่ บนพื้น ตอนบนของดวงตรา พระแสงศร ๓ องค์ นี้เป็นพระราชสัญลักษณ์ของพระบรม นามาภิไธย "ประชาธิปกศักดิเดชน์" ซึ่งคำว่า "เดชน์" แปลว่า ลูกศร
พระราชลัญจกรประจำรัชกาลที่ ๘ เป็นรูปพระโพธิสัตว์ประทับบนบัลลังก์ดอกบัว พระบาทขวาห้อยอยู่เหนือบัวบานอันหมายถึง แผ่นดิน พระหัตถ์ซ้ายถือดอกบัวตูม มีเรือนแก้ว อยู่ด้านหลังแถบรัศมี มีฉัตรอยู่สองข้างเป็นพระราชสัญลักษณ์ของพระบรมนามาภิไธยว่า "อานันทมหิดล" แปลว่าเป็นที่ยินดีของแผ่นดินประหนึ่งพระโพธิสัตว์เสด็จมาประทานความร่มเย็นเป็นสุขแด่ประชาราษฎรทั้งปวง
พระราชลัญจกรประจำรัชกาลปัจจุบัน เป็นรูปพระที่นั่งอัฐทิศ ประกอบด้วยวงจักร มีอักษร อุ หรือเลข ๙ อยู่กลางวงจักร รอบวงจักรมีรัสมีเปล่งออกโดยรอบ มีรูปเศวตฉัตรเจ็ดชั้น อยู่เหนือจักรฉัตรตั้งอยู่บนพระที่นั่งอัฐทิศ หมายถึง ทรงมีพระบรมเดชานุภาพในแผ่นดิน