ภาคเหนือ-ใต้ เรียก ขะหนุน ภาคอีสาน เรียก หมักหมี้ หรือ บักมี่,จันทบุรี เรียก ขะนู, มลายู-ปัตตานี เรียก นากอ , ชาวบน-นครราชสีมา เรียก โนน , เขมร เรียก ขนุน หรือ ขะเนอ
มีถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศอินเดีย ออกดอก ปีละ ๒ ครั้ง คือ ช่วงเดือน ธันวาคม - มกราคม และ เมษายน - พฤษภาคม ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด ติดตา และทาบกิ่ง
ขนุนอ่อน แม้จะมีวิตามินเกลือแร่ไม่เด่นนัก แต่มีเยื่อใยในอาหารสูงมาก ขนุนอ่อนจึงเป็นพนักงานทำความสะอาดลำไส้ได้เป็นอย่างดี และยังช่วยในการรักษาแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้ด้วย
ขนุนสุก หอม หวาน เป็นเมือกช่วยในการหล่อลื่นลำไส้ รับประทานมากๆ จะช่วยระบาย มีความเชื่อกันว่าการรับประทานขนุนกับน้ำผึ้ง (หรือน้ำเชื่อมก็ได้) จะเป็นยาบำรุงกำหนัดชั้นยอด ดังนั้นคนไทยจะไม่นิยมถวายขนุนสุกแก่พระภิกษุสงฆ์ เพราะจะทำให้จิตใจไม่สงบ นอกจากนั้นคนจีนยังเชื่อว่าขนุนสุกจะช่วยแก้กระหายน้ำ แก้เมาสุรา เป็นยาบำรุงกำลังและช่วยย่อย